ประเพณีตักบาตรเทโว
ความสำคัญ
คำว่า เทโว ย่อมาจาก เทโวโรหณะ
หมายถึง การหยั่งลงมาจากเทวโลก ซึ่งหมายถึงพระพุทธองค์เสด็จลงมาจากเทวโลกตามตำนานเล่าว่าเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าได้ประกาศพระศาสนาตั้งแต่ตอนเหนือของประเทศอินเดียมาถึงตอนล่าง
และได้เสด็จไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นปิตุภูมิ ได้ทรงแสดงเทศนาโปรดพระบิดา
พระมารดา พระนางพิมพาและพระราหุล ตลอดจนพระประยูรญาติทั้งหลาย
แล้วได้เสด็จขึ้นไปยังสวรรค์ชั้นดุสิต
เพื่อทรงแสดงธรรมเทศนาพระอภิธรรมแด่พระพุทธมารดาและปวงเทวดาทั้งหลายตลอดพรรษา
จึงเสด็จมายังมนุษย์โลกในวันที่เสด็จกลับมานั้นมีประชาชนไปถวายการต้อนรับพระองค์เป็นจำนวนมาก
ประชาชนเหล่านั้นต่างปิติยินดีด้วยการนำจตุปัจจัยใส่บาตร
ประเพณีตักบาตรเทโวของสุโขทัย
มีการจัดงานประเพณีตักบาตรเทโวหลายแห่งเท่าที่ปรากฏและมีชื่อเสียงคือ
งานตักบาตรเทโวของวัดราชธานี อำเภอเมืองสุโขทัย และวัดน้ำขุม อำเภอศรีนคร
จังหวัดสุโขทัย วัดราชธานีมีการจัดงานตักบาตรเทโวมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๔๐ ปี
มีการทำบุญตักบาตร ใส่บาตรข้าวต้มมัด หรือข้าวต้มลูกโยน
เพราะความเชื่อที่ว่าพระพุทธองค์เสด็จลงมาจากเทวโลกมีผู้มาต้อนรับมากมายทำให้ไม่สามารถเข้าใกล้พระพุทธองค์ได้
ต้องโยนอาหารลงในบาตร มีกีฬาทางน้ำคือการแข่งเรือในแม่น้ำยม
โดยเชิญเรือจากหลายแหล่งมาร่วมแข่งขันบางปีได้เชิญเรือจากต่างจังหวัดมาร่วมแข่งด้วย
สำหรับการงานประเพณีตักบาตรเทโวของวัดน้ำขุม
ได้เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๒ โดยมีครูย่อม จันทร์สุข
เป็นผู้นำและร่วมกับศรัทธาชาวบ้านจัดทำ บุษบก ศีรษะพระอินทร์ พระพรหม พระอิศวร
ยมบาล และหัวสัตว์นรกต่าง ๆ เช่น เปรต สุนัข ลิง ฯลฯ ตลอดจนเครื่อง แต่งกายนางฟ้า
เทวดา เป็นต้น
การจัดทำอุปกรณ์จัดงานตักบาตรเทโวในวัดน้ำขุมนั้น
เป็นงานศิลปะที่เกิดจาภูมิปัญญาชาวบ้านในส่วนท้องถิ่นล้วน ๆ
เพราะชาวบ้านได้ช่วยกันประดิษฐ์ไปตามจินตนาการ
แม้ในปัจจุบันรูปแบบก็ยังจัดในรูปแบบเดิม แต่มีอุปกรณ์เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม
พิธีกรรม
ก่อนจะถึงวันงานคณะกรรมการจะได้เชิญชาวบ้านส่งบุตรหลานมาเป็นเทวดา
นางฟ้า และผู้เข้าร่วมขบวนแห่
ปัจจุบันขบวนแห่งานตักบาตรเทโวจะเริ่มที่หน้าวัดหนองแหนซึ่งอยู่ห่างจากที่จัดงานประมาณ
๒ กิโลเมตรเศษ ในขบวนจะประกอบด้วย กลองยาว บุษบกสำหรับประดิษฐาน พระพุทธรูป
พระอินทร์ พระพรหม เทพบุตร นางฟ้า ฤาษี ขอทานและสัตว์นรกจำนวนมาก
เมื่อเริ่มขบวนชาวบ้านจะพากันมาคอยร่วมทำบุญตักบาตร ซึ่งเป็นข้าวสารอาหารแห้ง
การเคลื่อนขบวนจะเป็นไปอย่างช้า ๆ ให้พระภิกษุรับบาตร
สาระ
งานตักบาตรเทโวเป็นงานที่ช่วยสร้างความสมัครสมานสามัคคีให้แก่ชาวบ้านอย่างมากเป็นเครื่องควบคุมสังคมให้ละ
ลด เลิกอบายมุข หันหน้าเข้าวัดเพื่อทำบุญ
จึงมีส่วนช่วยให้สังคมเกิดสันติสุขเป็นอย่างดี
ลอยกระทงสาย
ความสำคัญ
เพื่อบูชาแม่คงคา
ขอขมาที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในน้ำและอธิษฐานบูชารอยพระพุทธบาท
พิธีกรรม
ก่อนถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองชาวบ้านจะเตรียมอุปกรณ์ดังต่อไปนี้
๑. แพผ้าป่าน้ำ
ทำจากต้นกล้วยมาตกแต่งให้สวยงามด้วยดอกไม้ธูปเทียน ธงหลากสี ใส่หมากพลู บุหรี่ ขนม
ผลไม้ เศษสตางค์ เพื่อเป็นทานสำหรับคนยากจนที่เก็บแพผ้าป่าน้ำได้
๒. กระทงสาย
แต่เดิมตัวกระทงสายจะทำจากใบพลับพลึงอ่อนสีขาว เย็บเป็นรูปกระทง ไส้กระทงจะทำด้วยเชือกฝั้น
และใช้น้ำมันมะพร้าวเป็นเชื้อไฟ ปัจจุบันจะใช้กะลามะพร้าว
ซึ่งต้องใช้เป็นจำนวนมากนับหมื่นใบ มีไส้กระทงเป็นเทียนหล่อในกะลา
มีเชือกฝั้นเป็นไส้หรือจะใช้ขี้ไต้ก็ได้
เมื่อถึงเวลา
ชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านจะจัดขบวนแห่
แต่งตัวกันสวยงามร่ายรำกันเป็นขบวนนำกระทงสายมายังท่าน้ำริมฝั่งแม่น้ำปิง
เมื่อมาถึงพร้อมกันก็จะทำพิธีจุดธูปเทียนบูชาแม่คงคาขอขมาที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำ
รำลึกจิตอธิษฐานบูชารอยพระพุทธบาทที่พระพุทธเจ้า และสุดท้ายอธิษฐานเพื่อลอยทุกข์โศก
โรคบาปให้ตัวเองและครอบครัวแล้วทำการปล่อยแพผ้าป่าน้ำ
หลังจากนั้นชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านก็จะจับสลากว่า
ใครจะเป็นผู้ปล่อยกระทงสายก่อน หมู่บ้านใดได้ลอยก่อน
ก็จะพากันแบกอุปกรณ์ไปบริเวณที่จะปล่อยกระทง สมาชิกจะต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือและจะต้องทำงานประสานกัน
คือ คนหนึ่งเตรียมกะลามะพร้าวนำขี้ไต้วางในกะลาส่งให้ผู้จุดไฟ
ส่งให้ผู้ปล่อยกะลาลงในน้ำ
ซึ่งจะต้องใช้ความชำนาญในการปล่อยกะลามะพร้าวลงแม่น้ำให้เป็นระยะ ๆ
ให้ห่างเท่ากันโดยสม่ำเสมอ กะลามะพร้าวก็จะลอยเป็นสายไปในแม่น้ำปิง
ส่องแสงระยิบระยับสวยงาม และหากหมู่บ้านใดลอยได้ระยะสม่ำเสมอสวยงาม
แสงไฟไม่ดับตลอดไป ซึ่งมีระยะห่างจนสุดสายตา ก็จะเป็นผู้ชนะสำหรับปีนั้น
และขณะที่สมาชิกส่วนหนึ่งปล่อยกระทง ที่เหลือก็จะเป็นกองเชียร์
ส่งเสียงเชียร์ตีกลองร่ายรำกันอย่างสนุกสนาน
สาระ
การลอยกระทงสายเป็นประเพณีที่เป็นแบบเฉพาะของชาวตาก
ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน
แสดงถึงความสามัคคีและความเป็นมิตรไมตรีของชาวบ้านในชุมชนนั้น
ประเพณีแห่เทียนพรรษา
ความสำคัญ
วันเข้าพรรษา
ตามประเพณีทางศาสนาแต่เดิม ประชาชนนำเทียนที่หล่อและแกะสลักสวยงามถวายพระสงฆ์
เพื่อจุดบูชาระหว่างเข้าพรรษา ต่อมาจัดให้มีการประกวดต้นเทียนพรรษาโดยแบ่งเป็น ๓
ประเภทได้แก่ ประเภทมัดรวมติดลาย ประเภทติดพิมพ์ และประเภทแกะสลัก ปี พ.ศ. ๒๕๒๐
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจัดเป็นงานประจำปีและงานระดับชาติ
โดยเพิ่มกิจกรรมและระยะเวลาการจัดงาน เช่น มีการสมโภชเทียนพรรษาพระราชทาน
จัดงานพาแลง แสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นเมือง และการประกวดธิดาเทียน
พิธีกรรม
๑.
ชาวบ้านแต่ละคุ้มจัดวัสดุอุปกรณ์ในการหล่อเทียน
จัดทำต้นเทียนทั้งแกะสลักและติดพิมพ์
๒. รวมเทียนที่ตกแต่งแล้ว
ก่อนพิธีเปิดงานแห่เทียน ๑ วัน
๓. จัดประกวดโดยแบ่งเป็นประเภท
๔. ถวายต้นเทียนพรรษาแก่วัด
และเก็บรักษาไว้จัดในปีต่อไป
สาระ
๑. คุณค่าด้านทัศนศิลป์
ในการออกแบบต้นเทียนและส่วนประกอบ
๒. คุณค่าด้านวรรณศิลป์ ได้แก่
การถ่ายทอดวรรณกรรมออกมาในรูป กลอนลำ ผญา ประกอบท่าร่ายรำในขบวนแห่
และการประยุกต์ตำนานในพุทธประวัติมาสร้างเป็นเรื่องราวประกอบต้นเทียนและองค์ประกอบ
๓. คุณค่าด้านศิลปการแสดง
ประกอบด้วยการเล่นดนตรีพื้นเมือง อาทิ พิณ (ซุง) แคน กลอง และโหวตในรูปของโปงลาง
๔.
คุณค่าด้านนันทนาการและการสื่อสารมวลชน
๕. คุณค่าด้านภูมิปัญญาชาวบ้าน
ที่มา ;; http://www.prapayneethai.com/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น