วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

การละเล่นของไทย

การละเล่นไม้หึ่ง หรืออีหึ่ง



อุปกรณ์และวิธีการเล่น

อุปกรณ์ ใช้ไม้ ๒ ชิ้น คือ ไม้แม่ ทำด้วยกิ่งไม้ที่หาง่ายและเหนียว มีขนาด เส้น ผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑นิ้ว หรือใกล้เคียง ยาวประมาณ ๑ ศอก และ ไม้ลูก อาจนำจากไม้ท่อนเดียวกันด้านปลายของไม้แม่ยาวประมาณ ๑ คืบ ไม้ที่สามารถทำได้ เช่น ไม้มะขาม ไม้ฝรั่ง หรือไม้ไผ่ลำเล็ก ตัน คือ เป็นไม้ที่สามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น นิยมใช้ไม้สดด้วยเป็นไม้ที่ยังมีน้ำหนักและเหนียวไม่เปราะเหมาะสมกับกระบวนการเล่น
วิธีการเล่น โดยการแบ่งฝ่ายละเท่า ๆ กัน เช่น ๒ ต่อ ๒ หรือ ๓ ต่อ ๓ ฝ่ายได้เล่นก่อนจะทำการขุดร่องที่พื้นดินแข็งให้เป็นร่องยาวประมาณ ๑ คืบ ลึก ๑ นิ้วครึ่ง เป็นรางคล้ายเรือ หรือ พอเพียงกับการงัดไม้ลูกได้จากนั้นฝ่ายเริ่มจะวางไม้ลูกขวางร่องหลุมที่ขุดไว้ แล้วใช้ไม้แม่งัดออกไปข้างหน้าให้ได้ระยะไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามรับยากหรือโต้กลับยาก ขณะที่งัดไม้ลูกออกไปนั้น ฝ่ายรับสามารถใช้อุปกรณ์ใดก็ได้ปกป้องหรือตีโต้กลับไปยังหลุมงัด หรือใช้มือรับ จากนั้นฝ่ายเริ่มต้องวางไม้แม่ไว้ที่หลุม ฝ่ายรับจะโยนไม้ลูกให้กลับมาให้ถูกหรือปะทะให้ไม้แม่ที่วางอยู่เพื่อการชนะ ถ้าสามารถโยนลูกปะทะไม้แม่ก็จะได้กลับมาเป็นผู้เริ่มหรือผู้เสริฟ แต่ถ้าโยนไม่ถูกไม้แม่ฝ่ายเริ่มก็จะได้ดำเนินการขั้นตอนต่อไป คือ นำไม้ลูกขึ้นมาเดาะโดยใช้ไม้แม่เดาะไม้ลูกให้ได้จำนวนครั้งให้ได้มากที่สุด ถ้าเดาะได้ถึง ๓ ครั้งก็จะได้ตีลูกออกไปถึง ๓ ครั้ง การตีจะ
พยายามตีลูกออกไปยังฝ่าย ตรงข้ามให้ได้ระยะไกลที่สุดและไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามรับได้ เพราะถ้ารับได้ก็จะต้องแพ้และกลับมาเป็น ผู้เริ่ม แต่ถ้ารับไม่ได้ฝ่ายเริ่มเดิมก็จะให้ตีไม้ต่อไปจนให้ครบ ๓ ครั้ง และฝ่ายรับก็จะนำไม้ลูกนั้นวิ่งกลับมายังหลุมโดยกลั้นหายใจและออกเสียงมาทางจมูกให้มีเสียง หึ่ม มาตลอดระยะการวิ่ง ถ้าเล่นฝ่ายละหลายคนก็สามารถส่งต่อไม้กันได้และผู้รับต่อก็จะต้องหึ่มต่อเช่นกัน ห้ามขาดเสียงหึ่มในขณะวิ่งกลับถ้าขาดเสียงหึ่มก็ถือว่าฟาวล์หรือแพ้ในเกมนั้น ผู้เริ่มเดิมก็จะได้เล่น แต่ถ้าผู้หึ่มสามารถวิ่งหึ่มมาถึงหลุมได้ก็จะชนะได้เป็นผู้เริ่มเล่นใหม่โดยใช้วิธีเดิม (การเล่นอาจแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละท้องถิ่นได้)

โอกาสหรือเวลาที่เล่น

เป็นการเล่นของเด็กเล็กและเด็กโตประมาณ ๗ - ๑๕ ขวบ สามารถเล่นได้ทั้งเด็กหญิงและเด็กชายเล่นในยามว่างเพื่อสันทนาการ ความสนุกสนาน และแข่งขันกันในหมู่เล็ก สถานที่ใช้เล่นจะต้องมีบริเวณลานกว้างพอ เช่น สนามหน้าโรงเรียน ลานบ้านในหมู่บ้าน หรือลานวัด

คุณค่า / แนวคิด /
สาระ


เป็นการเล่นที่ง่ายไม่ต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์และการเก็บรักษาอุปกรณ์ เนื่องด้วยไม้ที่ ใช้เล่นนิยมใช้ไม้สดเนื่องจากมีน้ำหนักในการใช้โยนหรือตีได้ไกล และเป็นการเล่นที่ต้องใช้ทักษะการงัด ให้ได้ไกล ดังนั้นจะต้องวางไม้ลูกให้ได้จุดกึ่งกลาง วางมุมไม้แม่ให้ได้องศาการดีดขึ้น ฝ่ายรับจะต้องมีทักษะการรับประสาทสั่งการความสัมพันธ์ของสายตาและอันตรายที่อาจเกิดขึ้น แต่ละช่วงของการเล่นจะมีเทคนิคการเล่นที่ต้องใช้ความสังเกต และฝึกความชำนาญในโอกาสต่อไป เช่น คนที่เล่นได้ดีคือจะงัดให้ไกลหรือเดาะได้จำนวนครั้งได้มาก และเวลาไม้ตีลูกก็จะได้ไกลเนื่องจากในขณะตีนั้นจะต้อง ให้มีความสัมพันธ์กันระหว่างการปล่อยมือไม้ลูกและไม้แม่ให้ตรงจุดกึ่งกลางศูนย์กลางของน้ำหนัก เช่นเดียวกับการตีเทนนิส หรือแบดมินตัน หรือเบสบอลและฝึกความแม่นยำในการโยนกลับ หรือพัดลูกกอล์ฟบนกรีนหรือเปตอง



แข่งเรือบก


อุปกรณ์และวิธีการเล่น

ไม้กระดาน ๒ แผ่น ยาวประมาณ ๑ วาเศษ พร้อมเชือกที่จะใช้รัดหลังเท้าติดกับไม้
วิธีการเล่น ผู้เล่นแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ ละ ๒-๕ คน โดยจะรัดเท้าทั้ง ๒ ข้าง ไว้กับกระดาน ๒ แผ่น มือจับเอวหรือจับไหล่ของผู้ที่อยู่ข้างหน้า อาศัยความพร้อมเพรียงจะยกเท้าซ้ายพร้อม ๆ กัน ดันไม้กระดานไปข้างหน้า กลุ่มใดถึงเส้นชัยก่อนถือว่าชนะ

โอกาสหรือเวลาที่เล่น

ส่วนใหญ่จะเล่นในเทศกาลสงกรานต์

คุณค่า / แนวคิด /
สาระ


นอกจากจะเป็นการออกกำลังขาแล้วยังสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ สร้างความสนุกสนาน การแข่งเรือบกจะเล่นกันในพื้นที่ ๆ ไม่มีแม่น้ำไหลผ่าน
แข่งเรือบก


หมากเก็บ


อุปกรณ์และวิธีการเล่น

อุปกรณ์การเล่น ก้อนหินขนาดเล็ก จำนวน ๕ ก้อน
วิธีการเล่น เป็นการละเล่นประเภทโยนรับ ซึ่งต้องอาศัยทักษะความแม่นยำ โดยโยนเองและรับเอง เวลาเล่นมักจะนั่งเล่นเป็นวงจำนวนหลายคน โดยผู้เล่นตกลงกันว่าจะเล่นอย่างไร ส่วนใหญ่นิยมเล่นกันในหมู่เด็ก ๆ ดังนี้
หมาก ๑ โยนก้อนหิน ๑ ก้อน แล้วเก็บอีก ๔ ก้อนที่เหลือทีละก้อน
หมาก ๒ โยนก้อนหิน ๑ ก้อน แล้วเก็บอีก ๔ ก้อนที่เหลือทีละ ๒ ก้อน
หมาก ๓ โยนก้อนหิน ๑ ก้อน แล้วเก็บอีก ๔ ก้อนที่เหลือโดยแบ่งเก็บ ๒ ครั้ง ครั้งแรกเก็บ ๓ ก้อน ครั้งที่สองเก็บ ๑ ก้อนหรือจะสลับกันก็ได้
หมาก ๔ โยนก้อนหิน ๑ ก้อน แล้วเก็บรวบอีก ๔ ก้อน ที่เหลือทั้งหมดเพียงครั้งเดียว
หมาก ๕ หงายฝ่ามือเอาก้อนหินทั้ง ๕ ก้อนไว้ในฝ่ามือ โยนก้อนหินขึ้นและพลิกฝ่ามือคว่ำลงอย่างรวดเร็ว ใช้หลังมือรับก้อนหินซึ่งอาจร่วงลงไปบ้าง โยนก้อนหินอีกครั้งและพลิกมือใช้ฝ่ามือรับเหลือก้อนหินในฝ่ามือเท่าใดนั่นคือจำนวนคะแนนที่ได้
หมาก ๑-๕ นี้ หากผู้เล่นคนใดรับไม่ได้ต้องเปลี่ยนผู้เล่นใหม่ และหมุนเวียนไปจนได้คะแนนครบตามที่กำหนดไว้ ผู้ใดสามารถใช้หลังมือรับก้อนหินได้มากกว่าผู้อื่นจะเป็นผู้ชนะ
 หมากเก็บ
โอกาสที่เล่น

นิยมเล่นในยามว่าง

คุณค่า
ส่งเสริมพัฒนาการเด็กทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา ผู้เล่นจะได้รับความสนุกสนาน เพลิดเพลินอารมณ์เบิกบานแจ่มใส การเล่นเป็นกลุ่มช่วยให้รู้จักปรับตัวเข้ากับเพื่อนๆ รู้จักการผ่อนปรน การอดทน อดกลั้น การควบคุมอารมณ์ ส่งเสริมความสามัคคี ความรักความผูกพันในหมู่เพื่อนเล่น ตลอดจนทักษะการใช้มือใช้นิ้ว การสังเกต การใช้สายตา ไหวพริบ และการคำนวณ

วิ่งขาโถกเถก


อุปกรณ์และวิธีการเล่น

อุปกรณ์ ไม้ไผ่กิ่ง ๒ ลำ ถ้าไม่มีก็เจาะรูแล้วเอาไม้อื่นๆ สอดไว้เพื่อให้เป็นที่วางเท้าได้
วิธีการเล่น ผู้เล่นจะเลือกไม้ไผ่ลำตรง ๆ ที่มีกิ่ง ๒ ลำที่กิ่งมีไว้สำหรับวางเท้าต้องเสมอกันทั้ง ๒ ข้าง ผู้เล่นขึ้นไปยืนบนแขนงไม้เวลาเดินยกเท้าข้างไหนมือที่จับลำไม้ไผ่ก็จะยกข้างนั้น ส่วนมากเด็ก ๆ ที่เล่นมักจะมาแข่งขันกัน ใครเดินได้ไวและไม่ตกจากไม้ถือว่าเป็นผู้ชนะ
วิ่งขาโถกเถก 

โอกาสที่เล่น

การวิ่งขาโถกเถก ถือเป็นการละเล่นที่เล่นได้ทุกโอกาส โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์

คุณค่า / แนวคิด /
สาระ

นอกเหนือจากความสนุกสนานแล้ว ยังเป็นเครื่องมือในการออกกำลังกาย บริหารส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้เป็นอย่างดี เดิมผู้ที่ใช้ขาโถกเถกเป็นชายหนุ่มไปเกี้ยวสาว เสียงเดินจากไม้เมื่อสาวได้ยินก็จะมาเปิดประตูรอเพื่อพูดคุยกันตามประสาหนุ่มสาว หรือบ้านสาวเลี้ยงสุนัขไม้โถกเถกยังเป็นอุปกรณ์ไล่สุนัขได้ด้วย

เดินกะโป๋ หรือ เดินกะลา


อุปกรณ์

ประกอบด้วยกะลาสองอันขนาดเท่าๆ กัน เจาะรูตรงกลางแล้วใช้เชือกหนึ่งเส้น ยาวประมาณ ๒-๓ เมตร หรือพอเหมาะกับผู้เล่น ปลายแต่ละข้างสอดเข้าไปในรูกะลาที่เจาะไว้ โดยคว่ำกะลาแล้วผูกปมเชือกไว้ให้โตกว่ารูของกะลาเพื่อกันเชือกหลุดเวลาเล่น

วิธีเล่น

ผู้เล่นจะขึ้นไปยืนบนกะลาโดยใช้นิ้วหัวแม่เท้าและนิ้วชี้คีบเชือกบนกะลา มือสองข้างดึงเชือกให้ตึง และเดินแข่งขันกัน

โอกาสหรือเวลาที่จะเล่น
เล่นได้ทุกโอกาส แต่มักจะมีการเล่นเมื่อมีงานเทศกาลต่างๆ


คุณค่า/ แนวคิด/
สาระ

เพื่อความสนุกสนาน และความสามัคคีในหมู่คณะ


ที่มา ;;  http://www.prapayneethai.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น