ประเพณีสงกรานต์
ช่วงเวลา
ตามประเพณีเดิมของไทย
วันตรุษกับวันสงกรานต์แยกเป็น ๒ วัน คือ วันสิ้นปีทางจันทรคติ ได้แก่ วันแรม ๑๕
ค่ำ เดือน ๔ เป็นวันตรุษ ส่วนวันขึ้นปีใหม่ทางสุริยคติ คือ
วันที่ดวงอาทิตย์ก้าวขึ้นสู่ราศีเมษ มักตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน เป็นวันสงกรานต์
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
ทรงรวมวันขึ้นปีใหม่มาไว้ในวันที่ ๑ เมษายน เรียกว่า พระราชพิธีตรุษสงกรานต์
คำว่า ตรุษ แปลว่า ตัดหรือขาด คือ
ตัดปี ขาดปี หมายถึง วันสิ้นปี
ตรุษเป็นพิธีแสดงความยินดีที่ได้มีชีวิตผ่านพ้นมาด้วยความสวัสดีในรอบปีหนึ่ง ๆ
เรียกว่า ส่งปีเก่า
สงกรานต์ แปลว่า ก้าวขึ้น ย่างขึ้น
หรือก้าวขึ้นการย้ายที่ เคลื่อนที่ คือ พระอาทิตย์ขึ้นสู่ราศีใหม่
หมายถึงวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตกอยู่ในวันที่ ๑๓,๑๔,๑๕ เมษายน
ทุกปี แต่วันสงกรานต์ คือ วันที่ ๑๓ เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ วันที่ ๑๔
เป็นวันเนา วันที่ ๑๕ เป็นวันเถลิงศก
ความสำคัญ
เป็นเทศกาลวันสิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ของคนไทย
ซึ่งยึดถือสืบเนื่องมาแต่โบราณ
เป็นระยะเวลาเข้าฤดูร้อนที่เสร็จจากการเก็บเกี่ยวข้าว จึงว่างจากการงานประจำ
มีการละเล่นสนุกสนานรื่นเริงร่วมกันในแต่ละหมู่บ้าน ตำบลหรือเมืองหนึ่ง ๆ
แม้ปัจจุบันทางราชการประกาศวันที่ ๓๑ ธันวาคม เป็นวันสิ้นปี และวันที่ ๑ มกราคม
ของทุกปี เป็นวันขึ้นปีใหม่
แต่ประเพณีการทำบุญและการรื่นเริงในวันตรุษและสงกรานต์ก็ยังคงมีอยู่ทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย
ตรุษสงกรานต์ถือเป็นนักขัตฤกษ์ที่ขึ้นหน้าขึ้นตามาแต่ดึกดำบรรพ์
ก่อนจะถึงวันสงกรานต์จะมีการเตรียมเครื่องแต่งตัวประกวดประขันกัน
พิธีกรรม
วันตรุษและวันสงกรานต์เป็นเทศกาลสำคัญที่คนไทยยังถือว่าเป็นวันสิ้นปี
วันสงกรานต์คือวันขึ้นปีใหม่ จึงต้องเตรียมงานเป็นการใหญ่จนมีคนพูดกัน
"ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่" สิ่งที่ตระเตรียมเป็นพิเศษ คือ
๑. เครื่องนุ่งห่มเพื่อใส่ในโอกาสไปทำบุญที่วัด
ตลอดจนเครื่องประดับตกแต่งร่างกาย
๒. ของทำบุญ
เมื่อใกล้จะถึงวันงานก็เตรียมของทำบุญเลี้ยงพระ และที่เป็นพิเศษ ๒ อย่าง คือ
ข้าวเหนียวแดงในวันตรุษ และขนมกวนหรือกะละแมในวันสงกรานต์ ซึ่งสิ่งของ ๒
อย่างนี้ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการทำบุญตรุษสงกรานต์เหมือนกับการทำกระยาสารท
เพราะนอกจากทำขึ้นเพื่อทำบุญแล้วยังแลกเปลี่ยนแจกจ่ายกันในหมู่บ้านใกล้เคียง
๓.
การทำความสะอาดบ้านเรือนที่อาศัยตลอดจนบริเวณใกล้เคียง เพื่อให้ดูเรียบร้อย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บูชาพระและที่เก็บอัฐิบรรพบุรุษ แม้เสื้อผ้าที่ใช้สอยก็ต้องซักฟอกให้สะอาดหมดจดโดยถือว่าสกปรกให้สิ้นไปพร้อมกับปีใหม่และต้อนรับปีใหม่
ด้วยความบริสุทธิ์ผุดผ่อง
๔. สถานที่ทำบุญ
วัดเป็นสถานที่ทำบุญสวดมนต์เลี้ยงพระ และทำต่อเนื่องกันหลายวัน
เมื่อทำความสะอาดกุฏิที่อาศัยแล้ว ยังต้องทำความสะอาดหอสวดมนต์ โบสถ์ วิหาร
ศาลาการเปรียญ ตลอดจนลานวัด เพื่อให้ดูร่มรื่นชื่นตาชื่นใจของผู้มาทำบุญในวันสำคัญ
เพราะต้องใช้ในกิจกรรมหลายอย่าง ได้แก่ การทำบุญตักบาตร สวดมนต์ เลี้ยงพระ
การฟังเทศน์ การก่อเจดีย์ทราย สรงน้ำพระ บังสุกุลอัฐิ การปล่อยนกปล่อยปลา
บางวัดชาวบ้านยังใช้ลานวัดเป็นสถานที่รื่นเริงสนุกสนาน เช่น
สาดน้ำและมีการเล่นอื่น ๆ เช่น ช่วงชัย ชักกะเย่อ เข้าทรงแม่ศรี เป็นต้น
การทำบุญถือเป็นกิจกรรมสำคัญในภูมิภาคนั้น
ถ้าตรุษกับสงกรานต์ต่อเนื่องกันจะทำติดต่อกันไป
แต่ถ้าไม่ต่อเนื่องกันก็จะทำบุญอันเป็นส่วนของตรุษส่วนหนึ่งแล้วเว้นระยะไปเริ่มทำบุญวันสงกรานต์อีกส่วนหนึ่ง
แต่ในบางจังหวัดแม้วันตรุษและสงกรานต์อยู่ห่างกันมากน้อยเพียงใด
ก็คงทำบุญต่อเนื่องกันจนสิ้นวันสงกรานต์
การรื่นเริงจะเริ่มมีตั้งแต่วันตรุษติดต่อกันไปจนสิ้นวันสงกรานต์
ไม่ว่าวันตรุษและวันสงกรานต์จะต่อเนื่องกันหรือไม่
แต่ในส่วนกลางคือกรุงเทพมหานคร
มีการทำบุญและการรื่นเริงกัน เฉพาะในวันมหาสงกรานต์เท่านั้น
และมักจะมีวันเดียวกันคือวันที่ ๑๓ เมษายน
การทำบุญ
มีการทำบุญในตรุษสงกรานต์ทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์
เช่น การก่อพระเจดีย์ทราย การปล่อยนกปล่อยปลา การสรงน้ำพระ การสรงน้ำพระพุทธรูป
การสรงน้ำพระภิกษุสามเณร การรดน้ำผู้ใหญ่ การทำบุญอิฐ การสาดน้ำ การแห่นางแมว
สาระ
๑.
เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงการที่ชีวิตได้ผ่านพ้นไปปีหนึ่ง
และจะต้องเผชิญกับชีวิตในปีใหม่อีกต่อไปด้วยความไม่ประมาท
๒.
เป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยให้แพร่หลายยิ่งขึ้นไป
๓.
เป็นการส่งเสริมความสำนึกในกตัญญูกตเวทีที่แสดงต่อบุพการี และบรรพบุรุษ
๔. เป็นการสืบทอดการละเล่น
การละเล่นพื้นเมือง และประเพณีอันดีงาม
๕. มีการชักชวนให้งดเว้นอบายมุข เช่น
งดเว้นการดื่มสุราเมรัย การเล่นการพนัน
ประเพณีทอดกฐิน
ช่วงเวลา
ระหว่างวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑
ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ จะทำก่อนหรือหลังจากนี้ไม่ได้
ความสำคัญ
เป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนจะได้ถวายเครื่องนุ่งห่ม
และไทยธรรมเป็นเครื่องบูชาแด่พระสงฆ์
คำว่า กฐิน ตามภาษาบาลีแปลว่า
ไม้สะดึง คือ กรอบไม้สำหรับขึงผ้าเพื่อเย็บของพระภิกษุให้สะดวกขึ้น
เนื่องจากสมัยก่อน เครื่องมือที่จะใช้เย็บได้สะดวกไม่มีเหมือนในปัจจุบัน
การเย็บจีวรต้องเย็บหลาย ๆ ชิ้นต่อกัน และประสานกันให้มีรูปเหมือนคันนาจึงต้องอาศัยไม้สะดึงช่วยในการขึงผ้า
ฉะนั้น ผ้าที่ทำด้วยไม้สะดึงเพื่อการนี้โดยเฉพาะจึงเรียกว่า ผ้าเพื่อกฐิน
และยังเรียกผ้ากฐินตามความหมายเดิมเรื่อยมาจนปัจจุบัน
แม้ว่ามีผ้าสำเร็จรูปทำเพื่อทอดกฐินโดยไม่ได้อาศัยไม้สะดึงก็ตาม
แต่เดิมกฐินเป็นเรื่องของสงฆ์โดยเฉพาะ
ภิกษุสงฆ์ต้องไปหาผ้ามาเองจากที่ต่าง ๆ ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ
ด้วยวิธีบังสุกุลและนำผ้านั้นมาเย็บย้อมเอง
ต่อมาราษฎรมีจิตศรัทธานำผ้ามาถวายในที่สุดพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้รับผ้าจากราษฎรได้และเมื่อทรงอนุญาตให้กรานกฐินจึงเป็นสาเหตุให้ราษฎรบำเพ็ญกุศลด้วยการทอดกฐิน
โดยนัดแนะกับพระ พระจัดการต้อนรับดังนี้เป็นต้น คำว่า ทอด คือ เอาไปวางไว้
การทอดกฐิน จึงหมายถึงการนำเอาผ้ากฐินไปวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์ซึ่งมีจำนวนอย่างน้อย
๕ รูป โดยมิได้ตั้งใจว่าจะถวายแก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งโดยเฉพาะ
ประเพณีการทอดกฐินของไทยมีหลักฐานปรากฏว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
ดังปรากฎในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ ๑
และได้ถือเป็นประเพณีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันซึ่งมีทั้งกฐินที่พระมหากษัตริย์ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลลงไปจนถึงกฐินของราษฎร
พิธีกรรม
กฐินมี ๒ ประเภท คือ กฐินราษฎร์
และกฐินหลวง
กฐินหลวง หมายถึง
กฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทอดถวายหรือพระราชทานให้พระบรมวงศานุวงศ์และองคมนตรีเป็นผู้แทนพระองค์
ไปทอดถวาย
เมื่อถึงกำหนดเทศกาลทอดกฐิน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ
เสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินพระอารามหลวงในเขตที่ใกล้พระนคร
เป็นส่วนมากเริ่มพระกฐินหลวงแต่วันแรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นวันแรก กำหนดเสด็จ ฯ
ถวายผ้าพระกฐิน ๓ วัดหรือ ๒ วัด รุ่งขึ้นแรม ๗ ค่ำ
พักวันหนึ่งวันที่พักนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะไม่เสด็จ ฯ
ไปถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง เพื่อให้เจ้าพนักงานเตรียมการที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินเป็นกระบวนพยุหยาตราสถลมารคส่วนกระบวนพยุหยาตราชลมารคจะต้องกำหนดในวันแรม
๙ ค่ำ ก็เพราะวันนี้ทางจันทรคติปรากฏว่าน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงพระนครจะขึ้นมาก
และนิ่งไม่ไหลขึ้นลง สะดวกในการที่จะจัดเป็นกระบวนพยุหยาตราทรงเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์ สับเปลี่ยนกันไปแต่ละปี
พระอารามหลวงที่ทางราชการกำหนด
เป็นวัดที่จะต้องเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินเป็น
ประจำปี
และเป็นหน้าที่ของสำนักพระราชวังที่จะต้องเตรียมการต่าง ๆ ในปัจจุบันมี ๑๖ วัด (๑)
คือ
กรุงเทพมหานคร:
๑. วัดบวรนิเวศวิหาร
(มีพระบรมราชสรีรังคารรัชกาลที่ ๖)
๒. วัดสุทัศน์เทพวราราม
(มีพระบรมราชสรีรังคารรัชกาลที่ ๘)
๓. วัดพระเชตุนวิมลมังคลาราม
(มีพระบรมราชสรีรังคารรัชกาลที่ ๑)
๔. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
(มีพระบรมราชสรีรังคารรัชกาลที่ ๕)
๕. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
(มีพระบรมราชสรีรังคารรัชกาลที่ ๗)
๖. วัดมกุฎกษัตริยาราม
(มีพระบรมราชานุสรณ์รัชกาลที่ ๔)
๗. วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
(มีพระบรมราชสรีรังคารรัชกาลที่ ๔)
๘. วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
(เป็นวัดคู่พระบรมราชวงค์จักรี)
๙. วัดราชาธิวาส (
มีพระบรมราชสรีรังคารสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และ
พระบรมราชสรีรังคารสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี
พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า)
๑๐.วัดราชโอรสาราม
(มีพระบรมราชสรีรังคารรัชกาลที่ ๓)
๑๑.วัดอรุณราชวราราม
(มีพระบรมราชสรีรังคารรัชกาลที่ ๒)
๑๒.วัดเทพศิรินทราวาส (รัชกาลที่ ๕
ทรงสร้างอุทิศถวายพระบรมราชชนนี)
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา :
๑๓.วัดสุวรรณดาราราม
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (เป็นวัดที่สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกสร้างขึ้นไว้ ณ
นิวาสสถานเดิม)
๑๔. วัดนิเวศธรรมประวัติ
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (เป็นวัดที่รัชกาลที่ ๕
ทรงพระราชดำริให้สร้างเป็นวัดประจำพระราชวังบางปะอิน)
จังหวัดนครปฐม:
๑๕.วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
(มีพระบรมราชสรีรังคารรัชกาลที่ ๖)
จังหวัดพิษณุโลก :
๑๖.วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
จังหวัดพิษณุโลก (เป็นวัดในประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญ
ถือเป็นราชประเพณีเมื่อพระมหากษัตริย์เสวยราชย์บรมราชาภิเษกแล้วจะต้องเสด็จฯ
ไปถวายสักการะพระพุทธชินราช
ส่วนพระอารามหลวงที่นอกเหนือจาก ๑๖
วัด เป็นหน้าที่ของกรมการศาสนา กล่าวคือ หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การคณะชน
หรือเอกชนขอพระราชทานผ่านกรมการศาสนา เพื่อจัดบริวารกฐินให้เป็นของพระราชทาน
แล้วผู้ได้รับพระราชทานจัดเพิ่มเติมหรือจัดจตุปัจจัยสมทบซึ่งเรียกกันว่า
กฐินพระราชทาน แต่ถ้าเสด็จพระราชดำเนินไปถวายวัดใด ๆ ตามพระราชอัธยาศัย
จะเป็นพระอารามหลวงหรือวัดราษฎร์ก็ตาม เรียกว่า กฐินต้น ซึ่งโดยมากมักจะเสด็จไปถวายผ้ากฐินวัดราษฎร์ที่ขาดการบูรณะ
(๑)
ถ้าสมเด็จพระสังฆราชประทับประจำที่วัดนอกจาก ๑๖ วัดนี้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน ณ
วัดนั้นเป็นประจำ
การทอดกฐินเป็นพระราชประเพณีอย่างหนึ่งที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นธุระบำเพ็ญพระราชกุศลมาตั้งแต่สมัยโบราณ
การเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินสมัยก่อน มีการเสด็จฯ
โดยกระบวนพยุหยาตราทั้งทางสถลมารคและชลมารค เป็นการแห่พระกฐิน
ซึ่งจุดมุ่งหมายเดิมของการแห่พระกฐินด้วยกระบวนพระพยุหยาตรานี้ เพื่อตรวจตราพลรบ
อาวุธยุทธภัณฑ์ และฝึกซ้อมรบทั้งทางสถลมารค (ทางบก) และทางชลมารค (ทางน้ำ)
กฐินราษฎร์ คือ
กฐินที่ราษฎรจัดทำขึ้น แบ่งออกเป็น มหากฐินและจุลกฐิน
มหากฐิน คือ
การนำผ้าสำเร็จรูปแล้วไปถวายพระดังที่นิยมทำกันอยู่ทุกวันนี้
และมักนิยมเรียกกันว่า กฐิน ถ้ารวมกันออกทุนทรัพย์และร่วมกันจัดทอดเรียกว่า
กฐินสามัคคี
การทอดกฐินนี้
ก่อนจะไปทอดกฐินวัดใดจำเป็นต้องไปแสดงความจำนงให้ทางวัดทราบเป็นการล่วงหน้าก่อนเรียกว่า
การจองกฐิน
ซึ่งจองได้แต่เฉพาะวัดราษฎร์เท่านั้นสำหรับวัดหลวงจะต้องขอพระราชทานผ่านกรมการศาสนาดังได้กล่าวแล้ว
เมื่อจองแล้วควรเขียนหนังสือปิดประกาศไว้เพื่อให้รู้ทั่วกันว่าวัดนี้จองแล้ว
ถือกันว่าใครจองก่อนก็ได้ทอดก่อน
แต่ก็เปิดโอกาสให้ผู้มีจิตศรัทธามากกว่าเป็นผู้ทอดก่อน ดังนั้น
ในคำจองจึงปรากฏชื่อผู้ทอด จำนวนองค์กฐิน บริวารกฐิน กำหนดวันเวลาทอด
แต่ถ้าใครมีศรัทธามากกว่านี้ จะเป็นผู้ได้ทอด เป็นต้น
การจองกฐินนี้
เพื่อให้ทางวัดและชาวบ้านในละแวกนั้นเตรียมการต้อนรับ
ทั้งในเรื่องความสะดวกสบายและอาหารการกิน
เมื่อถึงวันกำหนดจะต้องนำผ้าซึ่งจะทำไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งอาจเป็นผ้าขาวที่ยังไม่ได้เย็บ
เย็บแล้วยังไม่ได้ย้อม หรือย้อมแล้วก็ได้ เรียกว่าองค์กฐิน และบริวารกฐิน
ได้แก่พวกจตุปัจจัยไทยธรรมต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้กำหนดตายตัว ว่าจะต้องมีมากน้อยแค่ไหน
นอกจากนี้มักจะมีผ้าห่มพระประธานในโบสถ์อย่างน้อยผืนหนึ่ง
เทียนสำหรับจุดในการสวดพระปาติโมกข์ ๒๔ เล่ม นำไปยังวัดที่จะทอด
จะมีการสมโภชองค์กฐินก่อนก็ได้ และเมื่อทอดกฐินเสร็จแล้ว จะฉลองต่ออีกก็ได้ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์ของเจ้าภาพ
ในขณะนำไปทอด
อาจมีการแห่กฐินจะแห่ไปทางน้ำหรือทางบกขึ้นอยู่กับการคมนาคมทางไหนจะสะดวกกว่ากัน
หรือจะไปอย่างเงียบ ๆ ก็ได้ เมื่อมาถึงวัด พระภิกษุมาพร้อมแล้ว
ผู้ทอดกฐินอุ้มไตรกฐิน พนมมือ หันหน้าไปทางพระพุทธรูปว่า "นโม ตสฺส ภควโต
อรหโต สมฺมา สมฺพุทธสฺส "๓ จบ แล้วหันหน้ามาทางพระสงฆ์
กล่าวคำถวายผ้ากฐินว่าดังนี้
ถ้าเป็นวัดมหานิกาย "อิมํ
สปฺปริวารํ กฐินจีวรทุสสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม ทุติยมฺปิ อิมํ สปฺปริวารํ
กฐินจีวรทุสสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม ตติยมฺปิ อิมํ สปฺปริวารํ กฐินจีวรทุสสํ สงฺฆสฺส
โอโณชยาม"
ส่วนวัดธรรมยุต กล่าวคำถวายดังนี้
"อิมํ ภนฺเต สปฺปริวารํ กฐินทุสสํ โอโณชยาม สาธุโณ ภนฺเต สงฺโฆ อิมํ
สปฺปริวารํ กฐินทุสสํ ปฏิคฺคณฺหาตุ ปฏิคฺคเหตวา จ อิมินา ทุสเสน กฐินํ อมฺหากํ
ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย"
คำกล่าวถวายนี้
หัวหน้าผู้ทอดจะกล่าวนำเป็นคำ ๆ หรือประโยคก็ได้ หรือกล่าวคนเดียวก็ได้
บางครั้งมีการโยงสายสิญจน์ถึงกันหมดด้วย
หรืออาจจะกล่าวคำถวายเป็นภาษาไทยซึ่งแปลจากคำถวายภาษาบาลีก็ได้
เมื่อจบคำถวายแล้วพระสงฆ์รับ"สาธุ"เจ้าภาพประเคนไตรกฐินแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
(โดยมากมักจะเป็นรูปที่ ๒) หรืออาจวางไว้ข้างหน้าพระสงฆ์ก็ได้
ต่อจากนี้จะถวายบริวารกฐินเลยก็ได้ พระสงฆ์อนุโมทนาเป็นเสร็จพิธี
หรือจะรอฟังพระสงฆ์อปโลกนกรรมจึงจะถวายบริวารกฐินก็ได้
การทำอปโลกนกรรม คือ
ประกาศมอบผ้ากฐินแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งผู้ซึ่งมีจีวรเก่ามีพรรษามาก
สามารถกรานกฐินได้ถูกต้อง ฉลาดมีความรอบรู้ธรรมวินัยเป็นต้น ภิกษุอีก ๒
รูปสวดออกนามภิกษุที่จะเป็นผู้รับผ้ากฐินเพื่อเสนอขออนุมัติจากที่ประชุมสงฆ์เมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้านภิกษุอีก
๒ รูปก็สวดประกาศซ้ำเป็นภาษาบาลี เรียกว่าญัตติทุติยุกรรม
เมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้านก็เป็นอันว่าภิกษุที่ได้รับการเสนอนามเป็นผู้รับผ้ากฐินไป
เสร็จแล้ว พระสงฆ์อนุโมทนาเป็นอันหมดภาระหน้าที่ของเจ้าภาพ เมื่อเสร็จพิธีแล้ว
อาจมีการแสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับอานิสงส์กฐินหรือไม่มีก็ได้
บางแห่งอาจจัดให้มีการสนุกสนานรื่นเริง มีการแข่งเรือ เล่นเพลงเรือ เป็นต้น
หลังจากนี้เป็นวิธีการกรานกฐินซึ่งเป็นหน้าที่ของสงฆ์โดยเฉพาะ กล่าวคือ
ภิกษุผู้ครอง
ผ้ากฐินนำผ้ากฐินไปทำเป็นจีวรอย่างใดอย่างหนึ่งให้แล้วเสร็จในวันนั้น
และนำมาบอกในที่ประชุมสงฆ์ภายในพระอุโบสถเพื่ออนุโมทนา
เมื่อทอดกฐินเสร็จแล้ว
มักปักธงรูปจระเข้ไว้ที่วัดด้วย จะเป็นที่ศาลาวัด หน้าโบสถ์
หรือที่ใดๆที่เห็นง่ายเพื่อแสดงให้รู้ว่าวัดนั้นทอดกฐินแล้ว เพราะว่าวัดหนึ่ง ๆ
สามารถรับกฐินได้เพียงปีละครั้งเดียว
จุลกฐิน เป็นกฐินอย่างหนึ่งที่ราษฎรจัดทำขึ้นเป็นพิเศษ
ต่างกับกฐินธรรมดาทั่ว ๆ ไป กล่าวคือ เริ่มตั้งแต่เก็บฝ้ายมาปั่น ทอเป็นผืน กะตัด
เย็บย้อมให้เสร็จในวันเดียว จุลกฐินจึงหมายถึงผ้าที่ทำสำเร็จมาจากสิ่งเล็ก ๆ น้อย
ๆแต่ในบางท้องถิ่น เรียกว่า กฐินแล่น ซึ่งแปลว่า รีบด่วนจึงเข้าความหมายเพราะจุลกฐินเป็นกฐินที่ต้องเร่งทำให้เสร็จในวันนั้น
มักจะทำในระยะเวลาจวนหมดเขตการทอดกฐิน เช่น ในวันขึ้น ๑๔-๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เป็นต้น
ความเป็นมาของจุลกฐิน
เริ่มจากในสมัยพุทธกาล
ครั้งที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร
ทรงเห็นด้วยพระพุทธญาณว่าพระอนุรุทธมีจีวรอันเก่าขาดใช้การเกือบไม่ได้และก็เป็นเวลาจวนจะสิ้นสุดกฐินกาลแล้ว
จึงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์ พระสงฆ์ ต่างก็ออกช่วยหาผ้าบังสุกุลจีวรตามที่ต่างๆ
ต่ได้ผ้ายังไม่เพียงพอจะเย็บจีวรได้ ความทราบ
ถึงนางเทพธิดาซึ่งเคยเป็นปราณทุติยิกา (ภรรยาเก่า) ของพระเถระในชาติก่อน
จึงได้เนรมิตผ้าทิพย์หมกไว้ในกองขยะ
เมื่อพระอนุรุทธผ่านมาพบเข้าจึงชักผ้าบังสุกุลแล้วนำไปสมทบในการทำจีวร
ในการทำจีวรครั้งนั้นพระพุทธองค์เสด็จเป็นประธานและสนเข็ม
พระสงฆ์สาวกพร้อมทั้งคฤหัสถ์ชาย-หญิงได้ช่วยกันโดยพร้อมเพรียง
นับว่าเป็นการกระทำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในครั้งนั้น
พระพุทธองค์ทรงกำหนดให้ทำผ้าแล้วเสร็จในวันนั้นก่อนอรุณขึ้น
เป็นการร่วมแรงร่วมใจกันของหมู่ภิกษุสงฆ์
ถ้าชักช้าจะทำให้ผู้ครองผ้ากฐินไม่ได้ชื่อว่าเป็นผู้สามารถในการกรานกฐิน
นอกจากนี้เพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ เพราะพระพุทธองค์เสด็จเป็นประธานในที่นั้นด้วย
จะเห็นได้ว่าในตอนแรก ความยากลำบากในการทำจุลกฐินตกอยู่กับพระภิกษุสงฆ์
แต่ปัจจุบัน ความยากลำบากนี้ตกอยู่แก่ผู้ทอดเพราะต้องจัดการทุกสิ่งทุกอย่าง
พระภิกษุสงฆ์เป็นเพียงผู้รับผ้ากฐินและนำไปกรานกฐินเท่านั้น
ฉะนั้นจุลกฐินนี้คงมีเค้ามาจากการที่วัดบางวัดไม่ได้รับกฐินหลงเหลืออยู่
และจวนหมดเขตทอดกฐินแล้ว ชาวบ้านจึงช่วยกันขวนขวายจัดทำเมื่อระยะเวลากระชั้นชิด
อีกประการหนึ่งสมัยก่อนผ้าสำเร็จรูปยังไม่มีขาย
ประกอบกับลักษณะความเป็นอยู่แบบเลี้ยงตนเองและครอบครัวมีกิจการงานอย่างใด
ก็ร่วมมือกันเมื่อต้องการผ้ากฐินอย่างรีบด่วนเช่นนี้
จึงต้องหาทางและร่วมแรงร่วมใจกันให้เป็นผลสำเร็จ
จุลกฐินนี้นิยมทอดกันในภาคเหนือ
แพร่หลายเข้ามายังภาคกลางทางจังหวัดสุโขทัย และเข้ามากรุงเทพฯ
เมื่อครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
น่าจะนำมาจากราชประเพณีครั้งกรุงเก่า ดังปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า หน้า
๒๖๘ ว่า"ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ (เดือน ๑๒)โปรดให้ทำจุลกฐิน
คือทอดผ้ากฐินให้เสร็จในวันนั้น ผู้ทำจุลกฐินส่วนมากจะเป็นผู้มีทรัพย์มาก
เพราะต้องอาศัยกำลังคนและทุนทรัพย์มาก ในปัจจุบันไม่ค่อยนิยมทำจุลกฐินกันแล้ว
วิธีทำจุลกฐิน เริ่มตั้งแต่เก็บฝ้ายจากต้น
มักจะนำเมล็ดปุยฝ้ายไปผูกไว้ แล้วทำทีไปเก็บมาจากต้นฝ้าย บางตำราก็ว่า
เริ่มตั้งแต่ขุดดินทำแปลงปลูกฝ้าย แล้วนำต้นฝ้ายปลูกลง
เอาเมล็ดฝ้ายมาผูกติดกับต้นฝ้าย ซึ่งเป็นเรื่องสมมติอีก เมื่อเก็บเมล็ดฝ้ายมาแล้ว
(มักจะใช้สาวพรหมจารีเป็นผู้เก็บ) นำมากรอเป็นด้าย ทอเป็นผืนผ้า กะตัดเย็บย้อม
ตากให้แห้ง โดยแบ่งหน้าที่กันทำ แล้วนำไปทอดให้พระสงฆ์ได้กรานกฐินทันในวันนั้น
การทอดกฐินชนิดนี้ ถือ
ว่าได้อานิสงส์มากกว่าทอดกฐินธรรมดาหลายเท่าเพราะเหตุว่าทำในช่วงเวลาจำกัด คือ
ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงรุ่งอรุณของวันใหม่และต้องใช้กำลังคน ทุนทรัพย์มาก
ถ้าทำไม่ทันเป็นอันเสียพิธีฉะนั้นเมื่อทำเสร็จทันเวลาจึงส่งผลต่อจิตใจของผู้ทำบุญเป็นอย่างมาก
ยังมีกฐินอีกประเภทหนึ่ง เรียกว่า
กฐินโจร เป็นกฐินที่ราษฎรจัดทำขึ้นในวันจวนจะหมดเขตกฐินกาล คือ ในราว ๆ วันขึ้น
๑๔-๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ด้วยการสืบหาวัดที่ยังไม่ได้รับการทอดกฐินและจัดหาผ้ากฐินไปทอด
เรียกว่ากฐินตก กฐินตกค้าง หรือกฐินจรก็มี
เพราะเป็นวัดที่ตกค้างไม่มีผู้ใดมาจองกฐินไว้
ซึ่งตามธรรมดาการทอดกฐินต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้พระภิกษุสงฆ์วัดนั้นทราบล่วงหน้า
จะได้เตรียมการต้อนรับและเพื่อมิให้มีการทอดกฐินซ้ำ
แต่กฐินโจรนี้ไม่มีการบอกล่วงหน้า จู่ ๆ ก็ไปทอดเฉย ๆ
เป็นการจู่โจมไม่ให้พระสงฆ์รู้ ส่วนวิธีการทอดนั้นเหมือนกับการทอดกฐินทั่วไป
กล่าวคือ เจ้าภาพกล่าวคำถวายผ้ากฐิน ถวายบริวารกฐิน ฟังพระอนุโมทนา เป็นเสร็จพิธี
การทอดกฐินประเภทนี้นับว่าได้อานิสงส์แรงกว่าทอดกฐินธรรมดามากเพราะเป็นการอนุเคราะห์พระสงฆ์ให้มีโอกาสกรานกฐินในระยะเวลาจวนจะหมดเขตการทอดกฐินอยู่แล้ว
สาระ
การทำบุญกฐินนี้ก่อให้เกิดอานิสงส์ทั้งผู้ทอดและภิกษุสงฆ์
สำหรับภิกษุสงฆ์นั้น มีบัญญัติไว้ในพระวินัยว่าผู้กรานกฐินแล้ว จะได้อานิสงส์ ๕
ประการ คือ
๑. เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา
๒. ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ
๓. ฉันคณะโภชน์ได้
๔. ทรงอดิเรกจีวรได้ได้ตามปรารถนา
(ในพระวินัยกำหนดให้ภิกษุเก็บผ้าจีวรเกินจากสำรับที่นุ่งไม่ได้ เก็บได้เพียงแค่ ๑๐
วัน หลังจากนี้ต้องสละให้ผู้อื่นไป ถ้ากรานกฐินแล้วเก็บได้เกินกว่านี้)
๕. ลาภที่เกิดขึ้น
ให้เป็นของภิกษุผู้จำพรรษาในวัดนั้น ซึ่งได้กรานกฐินแล้ว
การที่พระพุทธเจ้ากำหนดไว้ในพระวินัย
ให้พระสงฆ์ผู้กรานกฐินแล้วได้รับการยกเว้น เพราะเกิดปัญหาและข้อขัดข้องบางประการ
อันก่อให้เกิดความลำบากแก่ภิกษุสงฆ์ เช่น ต้องบอกลา ถ้าอยู่คนเดียวก็บอกลาไม่ได้
การต้องเอาจีวรไปให้ครบ การฉันอาหารล้อมวงกันไม่ได้ การเก็บจีวรสำรองไว้ไม่ได้
นับเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นดังที่พระพุทธองค์ทรงเล็งเห็นความลำบากของภิกษุ
จึงมีพุทธานุญาตให้กรานกฐิน
นับเป็นความดีความชอบประการหนึ่งที่เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ต้องร่วมมือร่วมใจกัน พระพุทธองค์จึงทรงกำหนดข้อยกเว้นไว้ให้
ส่วนอานิสงส์สำหรับผู้ทอดนั้น
เชื่อกันว่าได้บุญกุศลแรง เพราะปีหนึ่ง ๆ จะมีเพียงครั้งเดียวและมีฤดูกาลทอด
เป็นผลให้ผู้ทอดมีจิตใจแจ่มใสและปีติยินดีในบุญกุศลที่ตนได้ทำไว้
นอกจากนี้ยังสามารถขจัดความโลภ โกรธ หลง โดยทางอ้อมได้อีกด้วย กล่าวคือ
กำจัดความโลภในวัตถุทานที่ได้บริจาคแล้วนั้น
กำจัดความโกรธเพราะได้ฟังอนุโมทนาบุญนั้น
กำจัดความหลงเข้าใจผิดเพราะทำด้วยมือของตนเองในบุญนั้นได้
การแข่งเรือ
ความสำคัญ
การแข่งเรือเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวฉะเชิงเทรา
ซึ่งมีความผูกพันกับแม่น้ำบางปะกง
ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมาแต่โบราณกาล
พิธีกรรม
การแข่งเรือ
นับเป็นประเพณีที่มีการปฏิบัติการมาเป็นเวลายาวนาน
โดยถือกำหนดในวันที่มีการแห่หลวงพ่อโสธรทางน้ำเป็นสำคัญ คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน
๑๒ ของทุกปี แต่เดิมจัดขึ้นที่บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง หน้าตัวเมือง
แต่ปัจจุบันได้ย้ายไปจัดบริเวณหน้าวัดโสธรวรวิหาร เรือที่เข้าแข่งมีหลายประเภท
ตั้งแต่เรือยาวเล็ก เรือยาวใหญ่ เรือเร็วติดเครื่องยนต์ ฯลฯ
การแข่งเรือยาวฝีพายแต่ละลำมีจำนวนประมาณ
๕๐ คนมีหัวหน้าควบคุมเรือ ๑ คน จังหวะการพายจะพาย ๒ ต่อ ๑ คือ ฝีพาย ๒ ครั้ง
ผู้คัดท้ายจะพาย ๑ ครั้ง กติกาการแข่งขันผู้ชนะจะต้องชนะ ๒ ใน ๓ คือ
เมื่อแข่งเที่ยวแรกไปแล้ว จะเปลี่ยนสายน้ำสวนกัน ถ้าชนะ ๒ ครั้งติดต่อกันถือว่าชนะ
แต่ถ้าผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะจะมีการแข่งขันเที่ยวที่ ๓
สาระ
นอกจากสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตที่ผูกพันกับผืนน้ำของผู้คนแล้วยังเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความสมานสามัคคีของบุคคลผู้ที่ได้ชื่อว่าอยู่ในเรือลำเดียวกัน
ไม่ว่าจะเป็นการฝึกฝน การทุ่มเทแรงกายแรงใจ
ความพร้อมเพรียงจังหวะและการประสานสัมพันธ์
ที่ทำให้ไปสู่จุดมุ่งหมายได้โดยมิใช่อาศัยความสามารถของคนใดคนหนึ่ง
ที่มา ;;http://www.prapayneethai.com/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น