ประเพณีสงกรานต์
ช่วงเวลา
ตามประเพณีเดิมของไทย
วันตรุษกับวันสงกรานต์แยกเป็น ๒ วัน คือ วันสิ้นปีทางจันทรคติ ได้แก่ วันแรม ๑๕
ค่ำ เดือน ๔ เป็นวันตรุษ ส่วนวันขึ้นปีใหม่ทางสุริยคติ คือ
วันที่ดวงอาทิตย์ก้าวขึ้นสู่ราศีเมษ มักตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน เป็นวันสงกรานต์
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
ทรงรวมวันขึ้นปีใหม่มาไว้ในวันที่ ๑ เมษายน เรียกว่า พระราชพิธีตรุษสงกรานต์
คำว่า ตรุษ แปลว่า ตัดหรือขาด คือ
ตัดปี ขาดปี หมายถึง วันสิ้นปี
ตรุษเป็นพิธีแสดงความยินดีที่ได้มีชีวิตผ่านพ้นมาด้วยความสวัสดีในรอบปีหนึ่ง ๆ
เรียกว่า ส่งปีเก่า
สงกรานต์ แปลว่า ก้าวขึ้น ย่างขึ้น
หรือก้าวขึ้นการย้ายที่ เคลื่อนที่ คือ พระอาทิตย์ขึ้นสู่ราศีใหม่
หมายถึงวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตกอยู่ในวันที่ ๑๓,๑๔,๑๕ เมษายน
ทุกปี แต่วันสงกรานต์ คือ วันที่ ๑๓ เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ วันที่ ๑๔
เป็นวันเนา วันที่ ๑๕ เป็นวันเถลิงศก
ความสำคัญ
เป็นเทศกาลวันสิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ของคนไทย
ซึ่งยึดถือสืบเนื่องมาแต่โบราณ
เป็นระยะเวลาเข้าฤดูร้อนที่เสร็จจากการเก็บเกี่ยวข้าว จึงว่างจากการงานประจำ
มีการละเล่นสนุกสนานรื่นเริงร่วมกันในแต่ละหมู่บ้าน ตำบลหรือเมืองหนึ่ง ๆ
แม้ปัจจุบันทางราชการประกาศวันที่ ๓๑ ธันวาคม เป็นวันสิ้นปี และวันที่ ๑ มกราคม
ของทุกปี เป็นวันขึ้นปีใหม่
แต่ประเพณีการทำบุญและการรื่นเริงในวันตรุษและสงกรานต์ก็ยังคงมีอยู่ทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย
ตรุษสงกรานต์ถือเป็นนักขัตฤกษ์ที่ขึ้นหน้าขึ้นตามาแต่ดึกดำบรรพ์
ก่อนจะถึงวันสงกรานต์จะมีการเตรียมเครื่องแต่งตัวประกวดประขันกัน
พิธีกรรม
วันตรุษและวันสงกรานต์เป็นเทศกาลสำคัญที่คนไทยยังถือว่าเป็นวันสิ้นปี
วันสงกรานต์คือวันขึ้นปีใหม่ จึงต้องเตรียมงานเป็นการใหญ่จนมีคนพูดกัน
"ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่" สิ่งที่ตระเตรียมเป็นพิเศษ คือ
๑. เครื่องนุ่งห่มเพื่อใส่ในโอกาสไปทำบุญที่วัด
ตลอดจนเครื่องประดับตกแต่งร่างกาย
๒. ของทำบุญ
เมื่อใกล้จะถึงวันงานก็เตรียมของทำบุญเลี้ยงพระ และที่เป็นพิเศษ ๒ อย่าง คือ
ข้าวเหนียวแดงในวันตรุษ และขนมกวนหรือกะละแมในวันสงกรานต์ ซึ่งสิ่งของ ๒
อย่างนี้ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการทำบุญตรุษสงกรานต์เหมือนกับการทำกระยาสารท
เพราะนอกจากทำขึ้นเพื่อทำบุญแล้วยังแลกเปลี่ยนแจกจ่ายกันในหมู่บ้านใกล้เคียง